ลักษณะของสัญญาซื้อขาย การโอนกรรมสิทธิ์

ลักษณะของสัญญาซื้อขาย การโอนกรรมสิทธิ์

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
* สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2534

การซื้อขายพระพุทธรูปอันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เพียงเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย หาจำต้องทำเป็นหนังสือสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้แต่อย่างใดไม่ แม้การซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ไว้ก็ย่อมสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 มีระบุข้อความว่าให้จำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะทำการดังนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 797 แห่ง ป.พ.พ. สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาตัวแทน

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือซื้อพระกำแพงศอก (ปางทุ่งเศรษฐี) เนื้อชินเงิน 1 องค์ราคา 90,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระราคา จำเลยที่ 1 ได้รับพระกำแพงศอกไปจากโจทก์แล้วในวันเดียวกัน โดยยังมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระราคา จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าขายพระพุทธรูปจำเลยที่ 2 แนะนำให้จำเลยที่ 1 รู้จักกับโจทก์ โจทก์ตกลงมอบพระพุทธรูปตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 ไปขายโดยจะให้ค่านายหน้าและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตามฟ้องไว้เพื่อเป็นประกันว่าจำเลยที่ 1 ขายพระพุทธรูปได้แล้วจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 90,000 บาท จำเลยที่ 1 นำพระพุทธรูปของโจทก์ไปขายไม่ได้ จึงนำพระมาคืนโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืน
จำเลยที่ 2 ให้การรับตามฟ้อง แต่ขอให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2ชำระแทน

จำเลยที่ 1 ฎีกา
นายทองดี จานสิบสี ยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่กรรมแล้วผู้ร้องเป็นภรรยาของโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 จำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ได้มาตกลงเช่าซื้อพระกำแพงศอก 1 องค์ ราคา 90,000 บาท จากโจทก์โดยยังไม่ได้ชำระเงิน และจำเลยที่ 2 รับรองว่าหากจำเลยที่ 1ไม่นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับใช้จำนวนเงินดังกล่าวแทน โจทก์ได้มอบพระกำแพงศอกให้จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 นำพระกำแพงศอกมาคืนโจทก์ โจทก์ไม่ยอมรับคืน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อพระกำแพงศอกไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ประกอบพฤติการณ์ที่โจทก์ได้มอบพระกำแพงศอกให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าวเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อพระกำแพงศอกไปจากโจทก์แล้ว และการซื้อขายพระพุทธรูปอันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เพียงเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย หาจำต้องทำเป็นหนังสือสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นแม้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ไว้ก็ย่อมสมบูรณ์แล้วที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงสัญญาตัวแทนเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำพระดังกล่าวไปขายที่กรุงเทพมหานครนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 ระบุข้อความว่าให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะทำการดังนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากจำเลยประสงค์ให้เอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทนจริง จำเลยก็น่าที่จะให้นายมนัส พรหมสุวรรณผู้เขียนได้เขียนข้อความเช่นนั้นให้ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 ด้วยแต่จำเลยก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาซื้อขาย หาใช่สัญญาตัวแทนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายแก่โจทก์จึงชอบแล้ว..."
พิพากษายืน.
( ราเชนทร์ จัมปาสุต - ชูศักดิ์ บัณฑิตกุล - วินัย กันนะ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัด หรือโดย ปริยายก็ย่อมได้

ข้อสังเกต * ส่วนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548

ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยา จำเลยที่ 2 เป็นบิดาของนายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ นายณรงค์ชัยกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ นายณรงค์ชัยจึงขายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก 2013 พะเยา ให้โจทก์ในราคา 343,200 บาท แต่นายณรงค์ชัยไม่ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์กลับร่วมกับจำเลยทั้งสองนำรถไปซุกซ่อน โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายณรงค์ชัยกับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ต่อมานายณรงค์ชัยถึงแก่ความตาย โจทก์จึงถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทและเป็นผู้ร่วมกันครอบครองรถยนต์ต้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบได้ ต้องร่วมกันคืนเงินหรือใช้ราคา 343,200 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ร่วมกันคืนเงิน 343,200 บาทให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายณรงค์ชัยไม่เคยทำสัญญาขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ นายณรงค์ชัยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันและโจทก์ให้นายณรงค์ชัยลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ยังไม่ได้กรอกข้อความโดยมีข้อตกลงว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันใดๆ สัญญาซื้อขายจึงเป็นเอกสารปลอม ในสัญญาซื้อขายข้อ 2 มีข้อความว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 และของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินที่มีผู้ชำระหนี้แทนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม และ 2 กรกฎาคม 2539 ครั้งละ 10,000 บาท รวมจำนวน 20,000 บาทออก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ ที่ตกทอดให้แก่ตน
จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 นายณรงค์ชัยได้กู้ยืนเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทและมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2538 นายณรงค์ชัยได้กู้ยืมเงินโจทก์อีกจำนวน 60,000 บาท ตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นนายณรงค์ชัยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงรับจะชำระหนี้แทนและได้สั่งจ่ายเงินตามเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาพะเยา ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 343,200 บาท เพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าเสียหายมอบให้แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินดังปรากฏหลักฐานตามสำเนาภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2539 นายณรงค์ชัยได้ทำสัญญาขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์และได้มอบใบคู่มือจดทะเบียนรถให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันแทนการชำระหนี้ ดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 แต่หลังจากนั้นนายณรงค์ชัยไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องนายณรงค์ชัยกับจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ และนายณรงค์ชัยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญากู้เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า การที่นายณรงค์ชัยทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทนนั้นถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์สำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.6 แล้ว เห็นว่า มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขระบุไว้ในสัญญาซื้อขายข้อ 2 ว่า ในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ยืมตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ยังหาระงับสิ้นไปไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้วและไม่เป็นกรณีที่จำต้องติดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบยอมรับว่านายณรงค์ชัยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปรวม 2 ครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 260,000 บาท จริง ดังนั้น จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของนายณรงค์ชัยจึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ของนายณรงค์ชัยให้แก่โจทก์ แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600, 1601 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกความรับผิดของนายณรงค์ชัยในเรื่องการกู้ยืมเงินมาวินิจฉัยอันเป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายให้เห็นโดยแจ้งชัดในเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อให้เห็นถึงมูลหนี้เดิมในคดีนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร อีกทั้งโจทก์ยังนำสืบให้เห็นว่าความจริงเป็นดังที่โจทก์บรรยายฟ้องและจำเลยทั้งสองเองก็ยอมรับ ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้จึงไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - สบโชค สุขารมณ์ - เรวัตร อิศราภรณ์ )

ป.พ.พ. มาตรา 349, 351
มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 351 ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ