(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด

(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์คืนและนำออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาผู้เช่าซื้อ ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท บันทึกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จึงไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6639/2548

บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ และยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท ผ่อนชำระ 12 งวด และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลือ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้ในสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่ได้ตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 91,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ช-2077 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 264,852 บาท ตกลงชำระงวดละ 7,357 บาท รวม 36 งวด ทุกวันที่ 2 ของเดือน งวดแรกชำระวันที่ 2 มกราคม 2538 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 7 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 15 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 2 มีนาคม 2539 โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้วและยึดรถยนต์คืนได้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท โดยผ่อนชำระให้โจทก์รวม 12 งวด งวดละเดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นตกลงด้วย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวด เป็นเงิน 9,000 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นไปเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นการแปลงหนี้ใหม่นั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาท โดยผ่อนชำระ 12 งวด งวดละเดือน และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่า หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไปและได้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.
( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - ปัญญา ถนอมรอด - สมศักดิ์ เนตรมัย )
ศาลแพ่ง - นายประเสริฐ อยู่เจริญดี
ศาลอุทธรณ์ - นางปดารณี ลัดพลี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำ ให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ