โจทก์มิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลย

โจทก์มิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลย
มาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง โดยไม่ลงโทษปรับด้วย โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
--โจทก์ฟ้องจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าแม้คดีนี้จะไม่มีการนำธนบัตรไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปล่อซื้อก็หาใช่สาระสำคัญของคดีถึงกับมีข้อสงสัยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดโทษจำคุกให้บังคับไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13599/2553

พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี โจทก์

เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.484 กรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง โดยไม่ลงโทษปรับด้วย โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลางทั้งหมด และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2570/2548 ของศาลจังหวัดนนทบุรี

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี ให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2570/2548 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย ทั้งเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญของคดีตามลำดับและสมเหตุผล แม้คดีนี้จะไม่มีการนำธนบัตรไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปล่อซื้อก็หาใช่สาระสำคัญของคดีถึงกับมีข้อสงสัยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เพราะได้ความจากพยานโจทก์ปากดาบตำรวจสมชาย ขณะที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจชุดที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อกับสายลับส่งสัญญาณให้ทราบว่าจำเลยเป็นบุคคลที่นัดมาส่งเมทแอมเฟตามีนโดยเฉพาะพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในกำมือของจำเลย พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องจริง พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.484 กรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง โดยไม่ลงโทษปรับด้วย โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ส่วนโทษให้บังคับไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

( วิกร อังคณาวิศัลย์ - ณรงค์พล ทองจีน - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ )

ศาลจังหวัดปทุมธานี - นายศุภชาติ ถิ่นพังงา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางกฤษณี เยพิทักษ์

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15(2) วรรคสาม, 66 วรรคหนึ่ง, 100/1

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
--การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
---การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป

มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
--ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
---ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

มาตรา 100/1 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
--ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำความผิดของผู้ใดเมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย ศาลจะลงโทษปรับน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้

ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225

มาตรา 212 คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา 225 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วย คำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ