ในคดีอาญาคดีถึงที่สุดว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 15 ไร่ ในคดีแพ่งผู้เสียหายฟ้องว่าจำเลยต้องรับผิดค่าเสียหาย 15 ไร่ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีมูลมาจากความผิดอาญา ดังนั้นจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีผลว่าศาลจะพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลก็ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่จำเลยฎีกาโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ว่าจำเลยทำให้เกิดความเสียหายเป็นเนื้อที่ 15 ไร่ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยชดใช้เต็มจำนวน 15 ไร่ไม่ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2553
กรมป่าไม้ โจทก์
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้ว โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ คดีนี้เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ นั้น หาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว
________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 2,503,125 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,250,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่หรือไม่ เห็นว่า พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้ว โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 110/2544 ของศาลชั้นต้น คดีนี้เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ นั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ ไร่ละ 80,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( วีระวัฒน์ ปวราจารย์ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ )
ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี - นายเตชัช ฉินังกูร
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายชาติชาย กริชชาญชัย
(ป.พ.พ.)มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
(ป.วิ.อาญา) มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา