การฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกถือว่ากระทำการแทนทายาทอื่นผู้มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งการฟ้องดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และการฟ้องคดีก็เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในกรณีนี้ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7377/2549
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และเป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นทายาทขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่ ส่วนกองมรดกได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของโจทก์เพียงใด ผู้ร้องสอดก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1720 แห่ง ป.พ.พ. ได้อยู่แล้ว กรณียังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางปุก ผู้ตายตามคำสั่งศาล โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 16 สารบบเล่ม 20 หน้า 76 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา โดยโจทก์ก็มีสิทธิครอบครอง 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา จำเลยเป็นผู้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมกันรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่จะได้รับ แต่เมื่อถึงวันนัดรังวัด จำเลยไม่ยอมไปดำเนินการ เพราะตกลงแนวเขตที่จะแบ่งแยกไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเจ้าพนักงานไปรังวัดแบ่งแยกได้ โจทก์จึงยกเลิกการขอรังวัด ต่อมาโจทก์ติดต่อให้จำเลยไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามส่วนใหม่ แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินส่วนของโจทก์มาแบ่งให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 16 สารบบเล่ม 20 หน้า 76 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา ออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน และให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของที่ดินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
ระหว่างการพิจารณา ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ จำเลยถึงแก่ความตาย นางทองย้อย ชาวไร่นาค ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา เดิมนายแคล้ว ใจอดทน เจ้าของที่ดินพิพาทได้ขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานได้รังวัดปักหลักเขตเสาหิน และการครอบครอง โดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตรับรองว่าถูกต้อง แต่นายแคล้วไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบราชการ จึงทำให้เรื่องการออกโฉนดยุติไป ส่วนที่ระบุว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา เป็นการประมาณการเท่านั้น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 จำเลยกับโจทก์ได้ร่วมกันขอรังวัด และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาทและขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งส่วนให้แก่นางปุก ใจอดทน จำนวน 1 ใน 3 ส่วนตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานได้รังวัดที่ดินพิพาททั้งหมดโดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต รังวัดได้เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งานเศษ แต่โจทก์จะแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียง 20 ไร่ ซึ่งไม่ถึง 2 ใน 3 ส่วน ตามคำพิพากษา หรือตามที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงไว้ที่สำนักงานที่ดิน จำเลยจึงไม่ยินยอมเพราะไม่ได้ส่วนแบ่งตามส่วน โจทก์จึงขอยกเลิกการรังวัดแบ่งแยกโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา แต่โจทก์มีเจตนาจะฟ้องให้แบ่งส่วนให้จำเลยเพียง 17 ไร่ 2 ตารางวา จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์และจำเลยได้ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว โดยตกลงกันว่าให้ที่ดินแยก 1 ด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 20 ไร่ และแปลงคงเหลือเป็นของจำเลย ส่วนโจทก์ให้ได้ที่ดินด้านทิศใต้ ตามรูปที่ดินท้ายคำให้การหมายเลข 2 หากโจทก์จะขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามที่ตกลงกัน จำเลยไม่คัดค้านแต่หากไม่อาจแบ่งกันได้ ก็ให้นำที่ดินพิพาททั้งหมดเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งานเศษ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้จำเลย 2 ใน 3 ส่วน ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ให้ร่วมกับจำเลยรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งแปลง และแบ่งแยกสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย 2 ใน 3 ส่วน จากเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา คิดเป็นเนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามส่วนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด แบ่งแก่จำเลย 2 ใน 3 ส่วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 49 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา นายแคล้ว ใจอดทน ได้แบ่งขายที่ดินให้ผู้อื่นไป 23 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ที่ดินพิพาทจึงมีเนื้อที่เหลือเพียง 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา นายแคล้วไม่เคยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยเคยตกลงกันไปขอรังวัดแบ่งที่ดินตามส่วนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับ เมื่อถึงวันนัดรังวัดจำเลยไม่ไปดำเนินการ ที่ดินส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นเนื้อที่เพิ่มอยู่นอกที่ดินพิพาท และเป็นที่ดินของผู้อื่น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของนางปุก ใจอดทน ผู้ตาย และเป็นพี่สาวของโจทก์ ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสอดมีความประสงค์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ถือว่าโจทก์กระทำการแทนผู้ร้องสอดแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วม ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีการวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่ ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางปุกผู้ตาย มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ในการยื่นคำร้องโจทก์ก็ไม่คัดค้าน หากศาลชั้นต้นอนุญาต ผู้ร้องสอดสามารถใช้สิทธิรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกร่วมกับโจทก์ อันจะก่อให้เกิดผลดีแก่กองมรดกและทายาทมากกว่าโจทก์ดำเนินคดีไปเพียงคนเดียวนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และการฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในกรณีนี้ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่ กรณียังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ส่วนที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกนั้น เห็นว่า หากกองมรดกได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของโจทก์ ผู้ร้องสอดก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1720 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องสอดนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1720 ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อ ทายาทตามที่บัญญัติไว้ใมาตรา 809 ถึง 812, 819, 823 แห่งประมวลกฎหมายนี้ โดยอนุโลม และ เมื่อ เกี่ยวกับ บุคคลภายนอก ให้ใช้ มาตรา 831 บังคับ โดยอนุโลม