ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2524
ป.อ. มาตรา 78
ป.วิ.อ. มาตรา 158
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า เรือของกลางมีระวางบรรทุกไม่เกิน250 ตัน ใช้ในการขนยางของกลางที่ยังมิได้เสียค่าภาษี และยางเป็นของที่ต้องจำกัด ศาลสั่งริบเรือของกลางได้ โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องว่าเรือของกลางมีระวางบรรทุกเท่าใดไม่ เพราะไม่ใช่องค์ประกอบของความผิด
พนักงานศุลกากรยึดเรือและยางของกลางได้โดยไม่มีตัวผู้ต้องหา ไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้ตัวผู้กระทำผิด จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานถึง 2 ครั้ง แม้จำเลยให้การต่อสู้คดีตลอดมาก็ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ศาลลดโทษให้จำเลยได้
___________________________
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้าร่วมกันนำยางแผ่นรมควันจำนวน 500 มัดหนัก 55,555 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของต้องกำกัดหรือจำกัด ยังมิได้เสียภาษีศุลกากรขาออกและมิได้นำผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรไทย โดยนำบรรทุกเรือยนต์ชื่อ “สินอุดม” ออกจากตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ไปยังประเทศมาเลเซีย โดยเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และเจตนาฉ้อค่าภาษีอากรของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผล เพราะเจ้าพนักงานศุลกากรดักจับเรือพร้อมด้วยแผ่นยางดังกล่าวได้เสียก่อนระหว่างทาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ กับสั่งริบของกลาง
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดฐานพยายามนำของออกนอกโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ ลงโทษจำเลยทั้งเก้าปรับ 2 ใน 3 ส่วนของสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรแล้วเป็นเงิน 3,513,772.26 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 แต่ให้รอการลงโทษไว้ ฯลฯ และให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นวางโทษฐานพยายามเพียง 2 ใน 3 ส่วนยังคลาดเคลื่อนเพราะการกระทำความผิดฐานพยายามตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จซึ่งระบุให้ลงโทษอย่างเดียวกัน และกรณีมีเหตุบรรเทาโทษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าโดยปรับและจำคุกมีกำหนดเท่ากับศาลชั้นต้นแต่ให้ลดโทษแก่จำเลยทั้งเก้าคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78สำหรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษ ฯลฯ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลจะริบเรือสินอุดมของกลางไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเรือสินอุดมมีระวางบรรทุกเท่าใดนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า เรือสินอุดมของกลางมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันใช้ในการขนยางของกลางที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยางเป็นของที่ต้องจำกัด ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 32 บัญญัติให้ริบ ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองให้ริบเรือสินอุดมของกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายในฟ้องว่าเรือสินอุดมของกลางมีระวางบรรทุกเท่าใดไม่ เพราะไม่ใช่องค์ประกอบของความผิด
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งเก้าที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยเพราะมีเหตุบรรเทาโทษนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับฟังมาปรากฏว่า คดีนี้ พนักงานศุลกากรยึดเรือและยางของกลางได้โดยไม่มีตัวผู้ต้องหา ไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้ตัวผู้กระทำผิด จำเลยทั้งเก้าต่างสมัครใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานถึงสองครั้ง พนักงานศุลกากรด่านศุลกากรเกาะนก จึงยอมรับตัวเป็นผู้ต้องหาส่งไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ดังนี้เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แม้ให้การต่อสู้คดีตลอดมาก็ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยได้
พิพากษายืน
(อำนัคฆ์ คล้ายสังข์-ขจร หะวานนท์-แถมชัย สิทธิไตรย์)
แหล่งที่มา
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ
หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
Line id : lawyer_2 ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com