การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง
ไม่ใช่อายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วย กฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีก ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครอง ได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปี หนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
ในวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปี หนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง "
กำหนดเวลาฟ้องคดีดังกล่าวมิใช่อายุความ แม้จำเลยสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956 - 1958/2523
การฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองจะต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งกำหนดเวลานี้ไม่ใช่อายุความถึงแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนั้น แม้เดิมจำเลยจะให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความไว้ แต่จำเลยก็ได้สละข้อต่อสู้เรื่องอายุความนี้เสียซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้น วินิจฉัยได้ด้วย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแต่ละสำนวนเข้าบุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่ออกไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยแต่ละสำนวนครอบครองมา โจทก์จำเลยได้แย่งสิทธิกันในที่พิพาท โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ในวันชี้สองสถาน จำเลยทั้งสามสำนวนแถลงสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสามสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความแล้วศาลจะยกเอาอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ เห็นว่าการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองจะต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งกำหนดเวลาฟ้องนี้ไม่ใช่อายุความ ถึงแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ก็ตามศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนั้น แม้จำเลยสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยทุกคนได้บุกรุกที่ดินของโจทก์เป็นเวลา 3 ปี ก่อนโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องร้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน
กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น ไม่ใช่เรื่องอายุความแต่เป็นกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง เมื่อโจทก์ผู้ถูกแย่งการครอบครองไม่ได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ย่อมเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วทันที่ ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นประเด็นโดยตรง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2536
กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นกำหนดเวลาสำหรับฟ้องเมื่อโจทก์ผู้ถูกแย่งการครอบครองไม่ได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ย่อมเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วทันทีปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นประเด็นโดยตรง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินน.ส.3 เลขที่ 596 และที่ดิน น.ส.3 หมู่ที่ 17 เล่ม 9 หน้า 57สารบบเล่ม 3 หน้า 283 ตำบลตากฟ้า อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ก็ให้โจทก์จัดการรื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่ารื้อถอนให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,800บาท และชดใช้ค่าเสียหายในอัตราปีละ 2,400 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านและยุ้งข้าวในที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง ซึ่งอยู่นอกที่ดิน น.ส.3 ทั้งสองแปลงที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาด เป็นที่ดินตกสำรวจ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านและยุ้งข้าวออกไปจากที่ดินส่วนค่าเสียหายก็มีไม่ถึงดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ดินดังกล่าวให้เช่าได้ปีละไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่ม 9 หน้า 57 หมู่ที่ 1 (17)เลขที่ 283 (ที่ถูกสารบบเล่ม 3 หน้า 283) ตำบลตากฟ้า (ตาคลี)อำเภอตากฟ้า (ตาคลี) จังหวัดนครสวรรค์ ของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์หากจำเลยไม่รื้อถอน ก็ให้โจทก์รื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 4,000 บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายในอัตราปีละ 2,400 บาท แก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้อง (8 เมษายน 2528)เป็นต้นไปจนกว่า จำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่รื้อถอน ให้โจทก์รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยตรงในศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์เกิน 1 ปี โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจที่จะยกมาตรา 1375 ขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้นไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง เมื่อโจทก์ผู้ถูกแย่งการครอบครองไม่ได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ย่อมเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วทันทีปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นประเด็นโดยตรง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
สำหรับประเด็นที่ว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2526 และจำเลยได้โต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ขณะที่โจทก์ซื้อ แต่ฟ้องคดีเพื่อเอาที่ดินพิพาทคืนเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2528 โจทก์จึงฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่กำหนดให้ฟ้องคดีภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้นเป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง หากไม่ฟ้องภายในกำหนดก็หมดสิทธิฟ้อง อำนาจฟ้องเรียกคืนที่พิพาทย่อมไม่มี ฉะนั้นกำหนดเวลาหนึ่งปีดังกล่าวจึงเป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ เพราะอายุความเป็นเรื่องขณะฟ้องสิทธิเรียกร้องยังมีอยู่แต่ไม่ใช้สิทธินั้นบังคับเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2540
เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าและได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของจำเลยที่2ต่อมาปี2512จำเลยที่2ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยก่อนที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้นได้มีการรังวัดที่ดินพิพาทโดยให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตและได้มีประกาศตามประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อให้มีผู้คัดค้านแต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาคัดค้านทางกรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้จำเลยที่2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มอบให้จำเลยที่1ใช้ประโยชน์ตลอดมาจึงถือได้ว่าจำเลยที่2ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตั้งแต่ปี2512แล้วโจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่24เมษายน2534ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา1ปีนับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1375วรรคสองนั้นเป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้องหากไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็หมดสิทธิฟ้องคือโจทก์หมดสิทธิครอบครองที่พิพาทอำนาจฟ้องเรียกคืนที่พิพาทก็ไม่มีฉะนั้นกำหนดเวลาตามมาตรา1375วรรคสองจึงเป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่าไม่ใช่เรื่องอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพวกเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนหน้า 84 เลขที่ 416/240หมู่ที่ 5 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาเนื้อที่ 8 ไร่ 59.5 ตารางวา ทิศเหนือจดถนนมิตรภาพ โดยซื้อมาจากผู้อื่นและได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2502 เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2533 เจ้าหน้าที่แขวงการทางที่ 2 จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์และปักหลักเขตบนที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือบางส่วน เนื้อที่ 7 ไร่ 87.5 ตารางวา ตามอาณาเขตเส้นสีแดงในแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 อ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1ที่มีการขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้วเลขที่ 8506ในนามของจำเลยที่ 2 การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวและการที่จำเลยทั้งสองนำที่ดินของโจทก์ไปขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์กับพวกโดยชอบห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวและบังคับให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 8506หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองดูแลและทำประโยชน์ด้วยการขุดบ่อน้ำลึกไว้ใช้ประโยชน์ในงานทางโดยใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้เป็นวัตถุสำหรับสร้างและซ่อมทางหลวงสายมิตรภาพตลอดมา โดยได้สงวนไว้สำหรับใช้ประโยชน์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2502 และจำเลยที่ 2 ได้ขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินของรัฐไว้ตามระเบียบแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวขึ้นทะเบียนราชพัสดุ แล้ว วันที่ 21 มีนาคม 2521 ก็ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและส่งประกาศดังกล่าวไปให้นายอำเภอสูงเนินปิดประกาศให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านอธิบดีกรมที่ดินจึงได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2521 เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่ง นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าและได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ต่อมาปี 2512 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยก่อนที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้นได้มีการรังวัดที่ดินพิพาทโดยให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต และได้มีประกาศตามประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อให้มีผู้มาคัดค้านแต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาคัดค้าน ทางกรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มอบให้จำเลยที่ 1ใช้ประโยชน์ตลอดมา จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ ตั้งแต่ปี 2512 แล้วโจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าโจทก์หมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้จำเลยมิได้ยกอายุความการแย่งการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์ในคำให้การ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าศาลหยิบยกเรื่องอายุความการถูกแย่งการครอบครองขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยน่าจะเป็นการคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายเพราะเป็นการพิจารณาคดีเกินไปกว่าประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ทั้งปัญหาเรื่องโจทก์ถูกแย่งการครอบครองนานเพียงใดน่าจะมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่เป็นปัญหาเรื่องอายุความโดยทั่วไปนั้นเห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง บัญญัติว่า"การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง" การที่กฎหมายใช้คำว่า"ต้องฟ้องภายในปีหนึ่ง" เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้องหากไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็หมดสิทธิฟ้อง คือโจทก์หมดสิทธิครอบครองที่พิพาท อำนาจฟ้องเรียกคืนที่พิพาทก็ไม่มีฉะนั้นกำหนดเวลาตามมาตรา 1375 วรรคสอง จึงเป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความดังที่โจทก์ฎีกา เพราะอายุความนั้นเป็นเรื่องขณะฟ้องสิทธิเรียกร้องยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่สิทธินั้นบังคับเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้อง เมื่อการฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่าเป็นสิทธิฟ้องร้องดังวินิจฉัยแล้ว และจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่ง นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ซึ่งเป็นการยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าโจทก์หมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
( จำลอง สุขศิริ - สุรินทร์ นาควิเชียร - สมบัติ เดียวอิศเรศ )
กำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย์ มาตรา 1375 ววรรคสอง เป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน คดีจึงไม่มีประเด็นปัญหาการแย่งการครอบครองอันจะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน หนึ่ง ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแต่ประการใด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกินหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2547
โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและเป็นผู้ครอบครองที่ดิน จำเลยไม่ยอมโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ถึงแม้ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะก็ตาม แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อจำเลยส่งมอบการครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
กำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน คดีจึงไม่มีประเด็นปัญหาการแย่งการครอบครองอันจะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องอีกต่อไป ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินพิพาทแล้วให้ใส่ชื่อโจทก์แทน โดยให้จำเลยไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายเอง หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนจากชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ขายที่ดินให้สองครั้งเนื้อที่รวม ๑๐ ไร่ คือ บริเวณที่แรเงาไว้ในโฉนดที่ดิน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบว่าเดิมที่ดินเป็นของบิดายกให้จำเลยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปี ๒๕๒๙ จำเลยขายที่ดินบางส่วนจำนวน ๘ ไร่ ปี ๒๕๓๓ จำเลยขายให้อีก ๒ ไร่ การซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแต่ส่งมอบการครอบครอง โจทก์เข้าครองครองทำประโยชน์ตลอดมา ปี ๒๕๓๗ จำเลยนำที่ดินไปขอออกโฉนดทั้งแปลง โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อออกโฉนดแล้วจะโอนที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ให้ ต่อมาจำเลยเพิกเฉยและปฏิเสธ เห็นว่า โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและเป็นผู้ครอบครองที่ดิน จำเลยไม่ยอมโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ ถึงแม้ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะก็ตาม แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อจำเลยส่งมอบการครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง?
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดสิทธิเอาคืนซึ่งการครอบครองหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี นั้น เห็นว่า กำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๕ วรรคสอง เป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน คดีจึงไม่มีประเด็นปัญหาการแย่งการครอบครองอันจะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน ๑ ปี นับแต่วันที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.