การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี

การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หากมีผู้รับแทนต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 กล่าวคือผู้รับแทนนั้นต้องมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้รับคำสั่งอายัดนั้น มิฉะนั้นถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้รับไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552

การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย


คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2546 ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 32,625 บาท แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท ทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากผิดนัดจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จากผู้ร้องได้แก่ เงินค่าจ้าง เงินเดือน ร้อยละ 30 ต่อเดือน เงินโบนัสประจำปีร้อยละ 30 และเงินตอบแทนกรณีจำเลยที่ 1 ออกจากงาน เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการของผู้ร้องมาทำการไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป

ในชั้นไต่สวน ทนายผู้ร้องแถลงว่า จำเลยที่ 1 เดิมเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง แต่ได้โอนไปปฏิบัติงานที่บริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือผู้ร้อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ต่อมาในวันนัดพร้อมวันที่ 1 สิงหาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงว่า ได้มีการแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้ร้อง 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ครั้งที่สองเป็นหมายอายัดของสำนักงานบังคับคดี ไม่มีบุคคลใดรับหมายแทน จึงทำการปิดหมายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ผู้ร้องทราบคำสั่งอายัดหลังจากมีการปิดหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 แล้ว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานแจ้งการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ร้องทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบแล้ว ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2547 อันเป็นวันที่ได้รับแจ้งการอายัดโดยชอบ จนถึงวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278/1 วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามลักษณะ 2 แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 76 มาตรา 77 มาตรา 78 และมาตรา 80 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ความในวรรคสองบัญญัติว่า “นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมไปรษณียากร กรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา 74 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” มาตรา 76 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความหรือบุคคลที่จะส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ถ้าได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆ ที่มีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความหรือบุคคลนั้น หรือได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นตามข้อความในคำสั่งของศาล ให้ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ซึ่งคำแถลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้ลงชื่อรับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความจริงเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย


พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนให้ได้ความจริงตามที่กล่าวมา แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( อิศเรศ ชัยรัตน์ - ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์ - ไมตรี ศรีอรุณ
ศาลแขวงนนทบุรี - นางรัชนีกร บุญพิทักษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสุทธิโชค เทพไตรรัตน์

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ