การเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุไม่อาจถอนได้

การเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ, การแสดงเจตนาเลิกสัญญาจึงไม่อาจถอนได้

การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุจึงถือเป็นการเลิกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดทันที การแสดงเจตนาเลิกสัญญาจึงไม่อาจถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังจำเลยจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ตามหนังสือที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. ชี้มูลความผิดและคณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา เห็นสมควรไล่ออก จำเลยก็ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นเพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุได้และจะยกเหตุทุจริตและขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชามาเป็นเหตุเลิกจ้างเป็นไล่ออกโจทก์อีกครั้งไม่ได้ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยจำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2549

โจทก์และจำเลยท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับและต้องแพ้คดีโจทก์ไปตามคำท้า ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้แม้โจทก์จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว เพราะโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการ พ.ศ.2518 ก็ดี ที่ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุเป็นเพราะจำเลยไม่ทราบว่า โจทก์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะสำคัญผิดก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือคำท้าทั้งสิ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มิได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ข้อ 6 ทวิ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดทันที และการแสดงเจตนาเลิกสัญญานี้ไม่อาจถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ประกอบกับข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ก็มิได้ให้อำนาจจำเลยที่จะสั่งลงโทษไล่ออกแก่ผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานไปแล้วได้ จำเลยจึงไม่อาจสั่งลงโทษโจทก์ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วให้ออกจากงานได้

จำเลยแพ้คดีตามคำท้าและค่าเสียหายเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องมาในคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์ได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยได้รับการบรรจุตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2505 ตำแหน่งสุดท้ายคือ สารวัตรแขวงบำรุงสะพานและอาคาร (สพอ.) ได้รับเงินเดือนสุดท้าย 29,750 บาท และเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เดือนละ 24,122.40 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 เป็นต้นมา ระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์เคยถูกร้องเรียนว่าบุกรุกที่ดินของจำเลยและนำที่ดินดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ไม่ได้บุกรุกและไม่มีพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์ แต่มีผู้ร้องเรียนโจทก์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) คณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูลความผิด จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วคณะกรรมการมีความเห็นว่า โจทก์มีความผิดควรได้รับโทษทางวินัยขั้นไล่ออก ที่ประชุมของผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่และขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหรืออาจเสียหาย จำเลยแจ้งให้ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชีระงับสิทธิต่าง ๆ ของโจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน จำเลยมีมติให้ไล่โจทก์ออกจากงานไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยเพราะโจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 และการประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เป็นการประชุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบทุกฝ่ายและไม่ครบองค์ประชุมขัดต่อข้อบังคับฉบับที่ 3.5 นอกจากนี้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับการรังวัดพื้นที่ที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าบุกรุก แต่จำเลยนำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการลงโทษโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับการสั่งให้ระงับการจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ของจำเลยเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรือไม่ จำเลยหรือพนักงานคนใดคนหนึ่งของจำเลยไม่อาจมีคำสั่งให้ระงับได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า มติที่ประชุมผู้อำนายการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 ตกเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนมติของที่ประชุมดังกล่าว ให้จำเลยคืนสิทธิการรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) แก่โจทก์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป ให้จำเลยชำระจำนวน 406,512.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 385,958.40 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนสิทธิและชำระเงินที่ค้างทั้งหมดคืนโจทก์จนครบถ้วน และให้จำเลยชำระเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เดือนละ 24,122.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 ตามลำดับไปทุกเดือนที่ผิดนัดจนกว่าจำเลยจะคืนสิทธิและจ่ายเงินที่ค้างแก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลย ระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย มีผู้ร้องเรียนว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงส่งเรื่องให้จำเลยสอบสวนวินัยโจทก์ จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วสรุปว่าโจทก์มีความผิดจริงจึงมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 128 วรรคสอง ประกอบกับข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3.5 ข้อ 4 (ก) และ (ง) ซึ่งเป็นมติที่เสร็จสิ้นแล้วให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 คือ เมื่อมีมติแล้วให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นดำเนินการทางวินัยต่อไป มาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้ยกเลิกมติของมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 แต่บัญญัติไว้ให้ปฏิบัติเหมือนกัน โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นเมื่อใด ดังนั้นตามมติที่เสร็จสิ้นแล้วโดยไม่ได้ถูกยกเลิกและเลยขั้นตอนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจำเลยจึงยังมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ การประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้แสดงเหตุผลและประเด็นต่าง ๆ ไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้โจทก์ได้รับบำนาญด้วยเหตุเกษียณอายุเมื่อเดือนตุลาคม 2540 โดยไม่ทราบเหตุที่โจทก์กำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการสอบสวนอยู่ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงสำคัญผิดให้โจทก์ออกจากงานโดยเกษียณอายุ เมื่อโจทก์กระทำความผิดโทษถึงไล่ออก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ข้อ 46 และเงินสงเคราะห์รายเดือนตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 14 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่าความผิดของโจทก์มีเจตนากระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายในปี 2535 และโจทก์ปกปิดความผิดหรือกล่าวเท็จในหน้าที่การเงินต่อผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งโจทก์มีอายุถึงกำหนดที่ต้องออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ทำให้จำเลยสำคัญผิดหลงเชื่อว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และก่อให้เกิดสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายเรื่องค่าชดเชย และข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องสภาพการจ้างทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ด้วยเหตุสูงอายุจากจำเลยและจำเลยสำคัญผิดหลงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ ทั้งที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้ ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินค่าชดเชย 6 เดือนของเงินเดือนสุดท้าย เดือนละ 29,750 บาท คิดเป็นเงิน 178,500 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ย 53,550 บาท เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เดือนละ 24,122.40 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ถึงเดือนมิถุนายน 2544 รวม 44 เดือน เป็นเงิน 1,061,385.60 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ย 217,101.60 บาท รวมเป็นต้นเงิน 1,239,885.60 บาท กับดอกเบี้ย 270,651.60 บาท รวมเป็นเงิน 1,510,537.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,239,885.60 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชยและเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) คืนจากโจทก์เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยและเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) แม้มติที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จะมีมติไล่โจทก์ออกจากงาน แต่จำเลยก็ยังมิได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งงดเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า มติที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ปกครอง) ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 เป็นโมฆะและเพิกถอนมติดังกล่าว ให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) แก่โจทก์จำนวน 406,512.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 385,958.40 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เดือนละ 24,122.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 ตามลำดับไปทุกเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ?ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้ง กับคำแถลงร่วมกันของคู่ความว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลย ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นได้มีผู้ร้องเรียนโจทก์ต่อจำเลยและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ว่าโจทก์กระทำทุจริต จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วคณะกรรมการมีความเห็นว่าโจทก์ไม่ได้กระทำทุจริต โจทก์ทำงานต่อจนเกษียณอายุและออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ส่วนที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ป. มีคำวินิจฉัยภายหลังจากที่โจทก์เกษียณอายุและชี้มูลว่าโจทก์กระทำทุจริตพร้อมกับส่งเรื่องกลับมาให้จำเลยเพื่อให้จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้วคณะกรรมการลงความเห็นว่าโจทก์มีความผิด เนื่องจากกระทำทุจริตและมีความเห็นให้ไล่ออก ที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงาน คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 โจทก์ยอมแพ้คดีและยอมคืนเงินตามฟ้องแย้งแก่จำเลย หากศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) และข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ.ล. 1 และ จ.ล. 2 โดยคู่ความแถลงท้ากันว่า หากศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับฉบับที่ 3.5 จำเลยยอมแพ้คดีโดยยอมจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) ข้อ 6 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ?พนักงานผู้ใดมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่คดีความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ถ้าผู้บังคับบัญชาที่พนักงานผู้นั้นสังกัดเห็นว่ามีมลทินหรือมัวหมอง จะให้คงอยู่ในหน้าที่การงานระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา จะเป็นการเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือผู้นั้นมีอายุใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องออกจากงานเพราะเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ก็ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งอนุญาตการลาออก ตามข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่งให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้? สำหรับวรรคสองกำหนดว่า ?แต่ถ้าภายหลังศาลพิพากษาว่ามีความผิด หรือสอบสวนพิจารณาได้ความเป็นสัตย์ที่จะต้องลงโทษไล่ออก หรือปลดออก หรือเป็นกรณีที่จะต้องให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่นก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นไล่ออก หรือปลดออก หรือให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่น ให้ตรงตามข้อบังคับนี้ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนมิได้มีความผิดเลย หรือมีความผิดไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากงานด้วยเหตุอื่น ให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าทำงานตามเดิม? ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าหลังจากโจทก์ถูกร้องเรียน จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วคณะกรรมการมีความเห็นว่า โจทก์ไม่ได้กระทำทุจริตในระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. พิจารณาคำร้องเรียนอยู่นั้นโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยต่อจนเกษียณอายุและออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์จึงได้รับเงินชดเชยและเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) หลังจากโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้ชี้มูลว่าโจทก์กระทำทุจริตและส่งเรื่องกลับมาให้จำเลยเพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนทางวินัย จนในที่สุดจำเลยมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออก เห็นว่า ระหว่างที่โจทก์ถูกร้องเรียนว่ากระทำทุจริตต่อจำเลยและคณะกรรมการ ป.ป.ป. จำเลยหรือผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพราะโจทก์มีอายุใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องออกจากงานเพราะเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและจำเลยยอมให้โจทก์ทำงานต่อจนโจทก์เกษียณอายุโดยมิได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุจึงถือเป็นการเลิกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดทันที การแสดงเจตนาเลิกสัญญาจึงไม่อาจถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังจำเลยจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ตามหนังสือที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. ชี้มูลความผิดและคณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา เห็นสมควรไล่ออก จำเลยก็ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นเพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุได้และจะยกเหตุทุจริตและขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชามาเป็นเหตุเลิกจ้างเป็นไล่ออกโจทก์อีกครั้งไม่ได้ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยจำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน ตามข้อ 6 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ได้เป็นเพราะจำเลยสำคัญผิดตามที่ให้การต่อสู้คดี เพราะจำเลยได้ทราบถึงการร้องเรียนโจทก์ต่อจำเลยและคณะกรรมการ ป.ป.ป. มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ก็ไม่ได้กำหนดให้จำเลยมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงานไว้ในกรณีที่ตรวจสอบพบการกระทำทุจริตของพนักงานในภายหลังแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานและต้องแพ้คดีโจทก์ไปตามคำท้า

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้ แม้โจทก์จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว เพราะโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. ชี้มูลว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และส่งเรื่องมาให้จำเลยดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ จำเลยย่อมมีอำนาจลงโทษโจทก์ต่อไปได้เสมือนว่าโจทก์ยังไม่พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยตามมาตรา 21 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง จึงไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะไล่โจทก์ออกจากงาน ทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ป. ส่งเรื่องมาให้จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ เมื่อจำเลยได้ให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุไปแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนได้ สิทธิจำเลยที่จะสั่งให้พนักงานออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3.5 ข้อ 6 ทวิ หมายถึง กรณีที่มีการร้องเรียนต่อจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวน การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุจึงเป็นเพราะจำเลยสำคัญผิด ไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงของจำเลย เมื่อโจทก์ยังเป็นเสมือนพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 และโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก จำเลยจึงมีอำนาจไล่โจทก์ออกจากงานได้ตามข้อบังคับของจำเลยและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับฉบับดังกล่าวหรือไม่ และศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยและต้องแพ้คดีโจทก์ไปตามคำท้า ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้แม้โจทก์จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว เพราะโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้ก็ดี ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุเป็นเพราะจำเลยไม่ทราบว่า โจทก์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะสำคัญผิดก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือคำท้าทั้งสิ้น จึงเป็นอุทธรณ์ในเรื่องนอกประเด็น ถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงเหลือปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามคำท้าของโจทก์และจำเลยว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มิได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ข้อ 6 ทวิ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดทันที และการแสดงเจตนาเลิกสัญญานี้ไม่อาจถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง ประกอบกับข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลย ฉบับที่ 3.5 ก็มิได้ให้อำนาจจำเลยที่จะสั่งลงโทษไล่ออกแก่ผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานไปแล้วได้ จำเลยจึงไม่อาจสั่งลงโทษโจทก์ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วให้ออกจากงานได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) และดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกไว้แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นพิเศษด้วยจึงไม่ชอบ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยระงับสิทธิการรับเงินสงเคราะห์รายเดือนของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์ได้เพิ่มเติมเพราะโจทก์ประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้าง โจทก์สามารถใช้เงินดังกล่าวเพื่อเป็นทุนประกอบการหากำไร และเงินดังกล่าวยังเป็นเครดิตสนับสนุนให้เกิดความเชื่อถือในการประกอบธุรกิจของโจทก์ด้วย และจำเลยย่อมสามารถคาดหมายได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 500,000 บาท เงินค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในส่วนนี้จึงเป็นคนละส่วนกับเงินสงเคราะห์รายเดือนและดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดที่โจทก์เรียกร้อง มิใช่เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในคำท้าของโจทก์และจำเลยก็ท้ากันว่า หากศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับจำเลยฉบับที่ 3.5 โจทก์ยอมแพ้คดีและยอมคืนเงินตามฟ้องแย้งแก่จำเลย หากศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3.5 จำเลยยอมแพ้คดีโดยยอมจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ เมื่อจำเลยแพ้คดีตามคำท้าและค่าเสียหายเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องมาในคำฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์ด้วยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน?
พิพากษายืน.
( พิทยา บุญชู - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - จรัส พวงมณี )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 386 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
แสดงเจตนาดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 138 ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอม ความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนี ประนอมยอมความเหล่านี้ไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความ

ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาใช้บังคับ

มาตรา 225 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็น ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใด ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะ พฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความ ที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ