พินัยกรรมแบบธรรมดา | พยานในพินัยกรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 "ผู้เขียน หรือ พยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 "พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อ รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น"

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 "บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 "พินัยกรรม หรือ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อมาตรา 1653 ย่อมเป็นโมฆะ"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2538

ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของ ว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า "ผู้พิมพ์" ส่วนลายมือชื่อของ ว. มีข้อความต่อท้ายว่า "ผู้พิมพ์" และว.เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว กรณีจึงมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา11 จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1653 วรรคแรกอันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา1705 เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะ แต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656 ทุกประการพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา กรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา136เดิม พินัยกรรมจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656 และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามพินัยกรรมทั้งได้ความว่าการจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการผู้ร้อง ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม
________________________________

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 นางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถึงแก่ความตายเนื่องจากการหายใจล้มเหลวติดเชื้อในกระแสเลือดและเบาหวาน ก่อนตายนางแฉล้มได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับยกทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้ไปขอรับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องในการจัดการ โดยเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่า ต้องมีคำสั่งศาลตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน ผู้ร้องเป็นผู้ไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องในข้อที่ว่า ผู้ร้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 ในฐานะเป็นผู้พิมพ์หรือไม่เสียก่อน เห็นว่า ลายมือชื่อของผู้ร้อง อยู่เหนือลายมือชื่อของนายวีระ วีระสัมฤทธิ์ และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า "ผู้พิมพ์" ส่วนลายมือชื่อของ นายวีระ มีข้อความต่อท้ายว่า "ผู้พิมพ์" และนายวีระเบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม ทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว กรณีจึงมีข้อสงสัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้อง ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหาย ในการนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามคำเบิกความของผู้ร้องว่า นางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตายให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรม เมื่อเป็นดังนี้ กรณีก็ไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคแรก อันจะทำให้พินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เป็นโมฆะตามมาตรา 1705

ปัญหาข้อต่อไปมีว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 เป็นพินัยกรรม ที่ผู้ตายทำขั้นและนำไปแสดงต่อสำนักงานเขตดุสิต หรือไม่ เห็นว่า แม้การทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 จะทำโดยวิธีเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน ตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ตาม แต่ผู้ใดเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ ซึ่งหากเป็นคนละคนกัน ก็ย่อมแตกต่างและขัดกัน ดังนี้ เมื่อตามทางนำสืบของผู้ร้องและตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ปรากฎว่านายวีระเป็นผู้พิมพ์ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้เขียนพินัยกรรม แต่ปรากฎตามซองพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ว่า นางแฉล้ม ผู้ทำพินัยกรรมได้ให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิตว่าตนเป็นผู้เขียนพินัยกรรม กรณีจึงย่อมเป็นการขัดกันดังที่ศาลล่างวินิจฉัย แต่เห็นว่าลำพังการขัดกันดังกล่าวยังไม่ถึงกับจะทำให้ไม่น่าเชื่อว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 มิใช่พินัยกรรมที่ นางแฉล้ม ผู้ทำ พินัยกรรมนำไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิต การที่ นางแฉล้ม ผู้ทำ พินัยกรรมให้ถ้อยคำว่า ตนเป็นผู้เขียนพินัยกรรมนั้นอาจมีทางเป็นไปได้ว่า จะหมายถึงตนเป็นผู้ทำพินัยกรรมก็ได้ จึงต้องพิจารณาเหตุอื่นประกอบด้วย เมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ประกอบกับซองพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.5 ปรากฎว่าพินัยกรรมลงวันที่ 13 เมษายน 2529 นายแฉล้ม ผู้ทำพินัยกรรมนำพินัยกรรมไปแสดง และให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิต วันที่ 15 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันทำพินัยกรรมดังกล่าวเพียง 2 วัน ทั้งได้ให้ถ้อยคำว่า เมื่อตนถึงแก่กรรมแล้วให้มอบพินัยกรรมแก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้ร้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ซึ่งก็สอดคล้องกับพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ที่ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จึงน่าเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 เป็นพินัยกรรมที่ นางแฉล้ม ผู้ตาย ทำขึ้นและนำไปแสดงต่อสำนักงานเขตดุสิตตามที่ผู้ร้องนำสืบ

ปัญหาข้อต่อไปมีว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้แจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบอันทำให้ตกเป็นโมฆะแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจะสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตก เป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบ พินัยกรรมธรรมดา ดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ทุกประการซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีนางแฉล้มผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรม ที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดากรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 136 เดิม พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656

ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาดังได้วินิจฉัยมา และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียใน ทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ทั้งได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้องว่า การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรจะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

พิพากษากลับ ให้ตั้งนายสุนทรี จินตกวีวัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตาย ตามพินัยกรรมให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป
( สมิทธิ์ วราอุบล - สมาน เวทวินิจ - บรรเทิง มุลพรม )

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ