สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะและไม่สามารถบังคับได้ เจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นหากผู้ที่ลงลายมือชื่อแทนบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่กรรมกรรมการผู้มีอำนาจลงลายชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของผู้ให้เช่าซื้อ ถือไม่ได้ว่าเจ้าของทรัพย์สินได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4108/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ที่กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะนั้น หมายถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อมีกรรมการของบริษัทโจทก์ลงลายชื่อในสัญญาเช่าซื้ออันไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ แม้ต่อมาโจทก์จะยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นโมฆะกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 533,879.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 89,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 พบว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะเนื่องจากในช่อง"เจ้าของ" ผู้ลงลายมือชื่อไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์แก้ไข แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและบอกเลิกสัญญา ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน158,071 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า แม้ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.1 จะไม่ปรากฏว่า นายปัญญา นิลสินธพ เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ แต่โจทก์ได้ยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ว่า ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพ-มหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่โจทก์อ้าง มีข้อความระบุว่า กรรมการของบริษัทมี 7 คน ตามรายชื่อดังต่อไปนี้ 1. นายโกวิท จิระธันห์ 2. นางกัลยา วิมลโลหการ 3. นายปฏิภาณ กาญจนวิโรจน์ 4. นายอำนวย สังขวาสี 5. นายสม วรรณประภา 6. นายสุชาติ โชติวิทยะกุล 7. นายเจตน์ สวรรคทัต กรรมการ 2 คน ยกเว้นนายสุชาติ โชติวิทยะกุล ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ ดังนี้ การลงลายมือชื่อในเอกสารที่ทำขึ้นในนามของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีผลเป็นการลงลายมือชื่อของโจทก์โดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อกรรมการที่ระบุชื่อไว้ได้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ 2 คนได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย แต่ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่ามีนายโกวิท จิระธันห์ และนายปัญญา นิลสินธพ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์โดยที่นายปัญญาหาได้เป็นกรรมการของโจทก์ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อไม่ เท่ากับนายโกวิทลงลายมือชื่อแต่ผู้เดียวและประทับตราสำคัญของโจทก์ อันไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง บัญญัติว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" ซึ่งหมายถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อมีกรรมการของบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้ออันไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ แม้ต่อมาโจทก์จะได้ยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นโมฆะกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
( ไพศาล รางชางกูร - อร่าม หุตางกูร - สมพล สัตยาอภิธาน )